รายงานพิเศษ...

คืนชีวิตธรรมชาติให้นกเงือกเกาะช้าง

โดย ชมรมคนเดินป่าเกาะช้าง
             1...
             ไทรใหญ่ต้นนั้น ยืนเด่นสูงตระหง่านอยู่กลางสวนยางพาราเก่าแก่...
             เป็นสวนยางพาราของชาวเกาะช้าง ที่ตั้งอยู่ระหว่างหมู่บ้านสลักเพชรกับเชิงเขาสลักเพชรหรือ “เขาใหญ่” ซึ่งเป็นชื่อเรียกขานของผู้คนพื้นถิ่น ในฐานะยอดเขาที่สูงที่สุดของเกาะช้าง โดยมีความสูง 743 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง
             ฤดูกาลใดที่ไทรใหญ่ต้นนี้ออกผลสุก การนัดหมายของโลกธรรมชาติได้เปิดบานประตูต้อนรับฝูงนกป่านานาชนิด ที่พากันโบยบินมาร่วมปลิดกินผลไทรสุก ท่ามกลางเสียงเซ็งแซ่ของการชุมนุมร่วมโต๊ะอาหาร เสียงกระพือปีกบินแหวกอากาศดังวืด วืด วืด ดุจเสียงรถจักรไอน้ำที่ดังกลบสุ่มเสียงอื่นๆ บ่งบอกการมาถึงของนกกก ซึ่งเป็นนกเงือกขนาดใหญ่ ที่สลับกันเข้าออกปลิดกินผลไทรสุกตลอดทั้งวัน บางเที่ยวก็คาบเอาผลไทรสุก โบยบิน ลับหายไปในราวป่าทึบกว้างใหญ่ เพื่อโผป้อนให้กับแม่นกและลูกน้อยที่รอคอยอยู่ในโพรงรัง ณ ที่ใดที่หนึ่งของผืนป่าเกาะช้าง
             ขณะที่นกเงือกง่วนอยู่กับกิจกรรมปลิดกินผลไทรสุก แม้เป็นช่วงเวลาแห่งการดำรงชีพที่ดูงดงามและน่าพิศวงของโลกธรรมชาติ แต่ช่วงจังหวะนี้ก็เป็นโอกาสทองสำหรับพรานนักล่า เพราะพวกเขามีเวลาเพียงพอที่จะสอดส่ายสายตาลอดผ่านพุ่มใบของต้นไทรใหญ่ เพื่อมองหานกเงือกชะตาขาดที่เป็นเป้าหมายของการส่องยิงอย่างแม่นยำ จากนั้นก็จะหิ้วเอาซากนกเงือกกลับมาปรุงเป็นอาหาร กลายเป็นลาภปากอีกมื้อหนึ่งของครอบครัว
             ความตายของนกเงือกเกาะช้าง แม้ใครบางคนอาจมองเป็นเรื่องเล็กน้อยหรือเป็นเรื่องด้อยค่าที่ไม่ควรตะขยายวงกว้าง แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง...สิ่งนี้คือภาพสะท้อนหลายๆฉากของสังคมเกาะช้าง ที่นับวันยิ่งเปลี่ยนโฉมอย่างรวดเร็วและซับซ้อนหลากหลายมากยิ่งขึ้น


             2...
             ภาพการโบยบินออกหาอาหารของนกเงือกเกาะช้างเหนือเรือนยอดไม้กลางหุบเขากว้างใหญ่
             คือภาพชีวิตของโลกธรรมชาติแห่งหมู่เกาะป่าดิบชื้นที่งดงามและเปี่ยมไปด้วยสีสันที่มีเสน่ห์ชวนหลงใหล เพราะวิถีชีวิตการดำรงอยู่ของนกเงือกที่ต้องอาศัยโพรงต้นไม้ใหญ่เป็นที่ทำรัง ต้องมีแหล่งอาหารที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตและสามารถขยายพันธุ์ได้นั้น
             ปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นดัชนีที่ชี้ให้ทราบถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าเกาะช้าง บ่งบอกถึงความหลากหลายของพืชพันธุ์ไม้และชีวิตสัตว์ป่า ซึ่งเป็นห่วงโซ่ความสมดุลของระบบนิเวศที่สลับซับซ้อนและเกี่ยวโยงกันอย่างลึกซึ้ง
             นกเงือกเกาะช้างเป็นนกประจำถิ่น ที่ใช้ชีวิตอิสระเคียงคู่อยู่กับผืนป่าแห่งนี้มาโดยตลอด ประกอบไปด้วยนกเงือก 3 ชนิด ที่มีชื่อเรียกท้องถิ่นผิดแผกกันออกไป คือ
             1.) นกแก๊กหรือนกแกง
             2.) นกเงือกกรามช้างหรือนกกู๋กี๋
             3.) นกกก นกกาฮังหรือนกกะวะ
             ทั้งนี้นกแก๊ก”หรือนกแกง จัดเป็นนกเงือกที่มีขนาดเล็กที่สุด แต่ก็มีความยาวจากปลายปากถึงปลายหาง 65 เซนติเมตร ขนตามลำตัวส่วนใหญ่เป็นสีดำ ปลายขนปีกมีสีขาว ตัวผู้มีจะงอยปากและโหนกสีขาวงาช้าง มีสีดำแต้มด้านหน้าของโหนก ส่วนตัวเมียจะมีโหนกที่เล็กกว่า มีสีดำแต้มเปรอะที่บริเวณปากและโหนก
             นกแก๊ก เป็นนกที่ร้องเสียงดัง มันร้องรัวเป็นเสียง “แก๊ก-แก๊ก-แก๊ก” เช่นเดียวกันชื่อที่ถูกเรียกขาน นกแก๊กบนเกาะช้าง พบเห็นได้บ่อยบริเวณชายป่า อาทิ ละแวกหุบเขาบ้านคลองสนบน บ้านคลองกลอย บ้านสลักเพชรและบ้านสลักคอก เพราะชอบโบยบินออกมาหากินผลไม้และจับสัตว์ขนาดเล็กตามพื้นดินเป็นอาหาร ไม่วง่าจะเป็นกิ้งกือ กิ้งก่าและตะขาบ ฯลฯ บางครั้งก็พบเห็นลงมาหากินปู ปลาและหอย ในเขตพื้นที่นากุ้งและป่าชายเลนของหมู่บ้านสลักคอก
             นกเงือกกรามช้างหรือนกกู๋กี๋ เป็นนกที่มีขนาดใหญ่มาก มีความยาวจากปลายปากถึงปลายหาง 100 เซนติเมตร เป็นโหนกขนาดเล็กเป็นลอนๆคล้ายฟันกรามของช้าง ตัวผู้มีส่วนกระหม่อมจนถึงท้ายทอยสีน้ำตาลเข้ม หน้าขมับและคอสีขาว ถุงใต้คอสีเหลือง สีเส้นสีดำด้านข้าง ส่วนตัวเมียมีสีดำตลอดตัว ยกเว้นขนหางขาวปลอด ถุงใต้คอสีฟ้า มีเส้นสีดำด้านข้าง
             นกเงือกกรามช้างเป็นนกที่บินเก่งและบินได้ไกล หากินผลไม้สุกอยู่ทั่วราวป่าเกาะช้าง โดยเฉพาะทุกหุบเขากว้างใหญ่ที่มีผลสุกของลูกไทร หว้า ตาเสือและยางโอน บางครั้งก็จะร่อนลงสู่พื้นดิน เพื่อไล่จิกกินสัตว์เลื้อยคลานและแมลงบางชนิดเป็นอาหาร
             นกกก นกกาฮังหรือนกกะวะ เป็นนกเงือกที่มีขนาดใหญ่มาก ความยาวของลำตัวจากปลายปากถึงปลายหาง 120-140 เซนติเมตร ปากและโหนกมีสีเหลือง โหนกมีขนาดใหญ่ ด้านบนแบนหรือนูนเล็กน้อย ตัวผู้จะมีขนาดใหญ่กว่า โหนกมีสีดำที่ส่วนหน้า ตาสีแดง ส่วนตัวเมีย โหนกไม่มีสีดำ ตาสีขาว
             นกกกหากินผลไม้สุกอยู่ทั่วราวป่าเกาะช้าง อาหารส่วนใหญ่มักจะเป็นลูกไทร หว้า ตาเสือ ยางโอน ปอและส้านเล็ก ทั้งนี้หากต้นใดมีผลไม้สุกที่มันชอบ นกกกมักจะบินจากแหล่งที่กกนอนบนเรือนยอดของต้นไม้ขนาดสูงใหญ่ เพื่อมากินผลไม้สุกที่ต้นนั้นๆทุกวันและมักจะใช้เส้นทางบินเดิม จนกว่าผลไม้สุกต้นนั้นจะหมดจึงจะไปเสาะหาผลไม้สุกจากต้นอื่นๆต่อไป
             เนื่องจากนกเงือกเป็นนกที่มีขนาดใหญ่ถึงใหญ่มากและไม่มีขนปกคลุมปีกด้านล่าง เวลาบินจะเกิดเสียงดังราวกับรถจักรไอน้ำ การกินผลไม้สุกของนกเงือก นับเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งที่ผิดแผกไปจากนกชนิดอื่นๆโดยทั่วไป เพราะนกเงือกจะใช้ปลายปากปลิดผลไม้ออกจากกิ่ง โยนขึ้นไปในอากาศ แล้วอ้าปากรับผลไม้ กลืนกินลงคอทั้งผลหรืออาจคาบผลไม้ไว้ แล้วเงยหน้าขึ้นเพื่อให้ผลไม้ไหลหล่นลงคอ
             เอกลักษณ์อีกประการหนึ่งของนกเงือก คือ แม้ไม่สามารถเจาะโพรงต้นไม้ได้เอง แต่เป็นนกที่ต้องทำรังอยู่ในโพรงต้นไม้ใหญ่ ซึ่งอาจจะเป็นโพรงที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติหรือมีสัตว์ชนิดอื่นๆทำให้เกิดขึ้น โดยตัวเมียจะออกไข่และทำหน้าที่ฟักไข่อยู่ในโพรง ตัวผู้จะออกหาอาหารมาป้อนให้กับตัวเมียและลูกน้อย จนกว่าจะเติบโตและมีขนปีกพร้อมที่จะออกโบยบิน ซึ่งต้องใช้เวลาเนิ่นนานตั้งแต่ 3-4 เดือนขึ้นอยู่กับชนิดของนกเงือกนั้นๆ
             แม้นกเงือกทั้ง 3 ชนิด คือ สัญลักษณ์ที่ยืนยันถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าดิบชื้นบนเกาะช้าง แต่อดีตกาลที่ผ่านมาก็มักจะได้ยินข่าวการยิงนกเงือกเกาะช้างให้ทราบอยู่บ้าง แม้แต่ละครั้งจะเกิดขึ้นไม่บ่อยนักก็ตาม ทว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อปลายปี 2547 ซึ่งมีการยิง “นกกก” ที่เข้ามาเกาะกินลูกไทรสุกในเขตพื้นที่เชิงเขาของหมู่บ้านสลักเพชร เพื่อนำเอาเนื้อมาปรุงเป็นอาหาร พร้อมกับคำกล่าวของพรานนักล่าที่บอกว่า “ตัวหนึ่งแกงได้สี่หม้อ” และล่าสุดเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2548 มีการยิงนกกกบริเวณเชิงเขาหมู่บ้านสลักเพชร โดยทิ้งซากหัวนกที่สุนัขคาบมากัดแทะไว้เป็นหลักฐานของการล่าในครั้งนั้น
             สิ่งนี้จึงนับเป็นโศกนาฏกรรมฉากหนึ่งของนกเงือกเกาะช้าง ซึ่งเป็นเหตุเลวร้ายของสัตว์ป่าคุ้มครองที่ยุคสมัยนี้ไม่บังควรเกิดขึ้นอีกต่อไป เรื่องนี้จึงมีความจำเป็นที่หน่วยงานของรัฐและผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายจะต้อง ช่วยกันแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ไม่เช่นนั้นโศกนาฏกรรมของชีวิตนกเงือกเกาะช้างก็จะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าอย่างน่าใจหาย
             3...
             ในอดีตการล่าสัตว์ป่าบนเกาะช้าง ไม่ว่าจะเป็นหมู่ป่า เก้ง ชะมด ลิง ค่าง กระรอกและนกเงือก ฯลฯ
             โดยทั่วไปมักจะเป็นฝีมือของพรานนักล่าที่เป็นชาวเกาะช้างดั้งเดิม ซึ่งนิยมล่าด้วยการดักแร้ว ส่องยิงด้วยปืนลูกกรด ปืนลูกซอง ปืนแก๊ปและการวาง “ปืนขัด” บนเส้นทางที่สัตว์ป่าเดินผ่าน
             แต่เมื่อมีการประกาศจัดตั้งเป็น “อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง” เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2525 การไล่ล่าสัตว์ป่าบนเกาะช้างของชาวบ้านดั้งเดิมก็ค่อยๆลดลง โดยเฉพาะหลังความตายของ “พรานนักล่าแห่งหุบเขาใน”คนหนึ่งที่เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2544 ด้วยครั้งนั้นพรานผู้เชี่ยวชาญการวางปืนขัด เพื่อดักยิงหมูป่าผู้นี้ ได้ทำการวางปืนขัดกระจายอยู่ในหลายทำเลทั่ว “หุบเขาใน” ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของหมู่บ้านสลักเพชร
             เมื่อไม่อาจจดจำตำแหน่งปืนขัดที่ตนเองเป็นคนวางได้หมด ในที่สุดเขาก็พลาดไปโดยกระสุนปืนขัดของตนเอง ทำให้ได้รับบาดเจ็บสาหัสและต้องคลานกระเสือกกระสนกลับสู่หมู่บ้าน ท่ามกลางสายฝนในฤดูมรสุมที่ซัดกระหน่ำ เมื่อญาติพี่น้องตามไปพบศพในวันรุ่งขึ้น คำบอกเล่าถึงภาพชีวิตสุดท้ายของพรานนักล่าแห่งหุบเขาใน ทำให้พรานชาวเกาะช้างดั้งเดิมต่างรู้สึกหวาดหวั่นกับชะตากรรมดังกล่าว ปัจจุบันจึงเหลือน้อยคนนักที่ยังคงแบกปืนแก๊ปขึ้นไปส่องยิงสัตว์ป่าบนภูเขาเกาะช้าง
             4...
             ท่ามกลางการขยายตัวของธุรกิจการท่องเที่ยว ทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยและแรงงานต่างถิ่น จากทั่วทุกสารทิศมุ่งหน้าเข้าสู่เกาะช้างอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะแรงงานในภาคของการก่อสร้างโรงแรมและ รีสอร์ทที่ผุดขึ้นใหม่ทั่วเกาะช้าง บางคนในกลุ่มนี้เลือกใช้ชีวิตหลังเลิกงาน ด้วยการก้าวเดินขึ้นสู่ภูเขาพร้อมกับปืนแก๊ปที่กระชับอยู่ในอุ้งมือ
             บางวันจึงมีคนพบเห็นเนื้อหมูป่าสดๆบรรจุกระสอบปุ๋ย ถูกนำตระเวนเร่ขายอยู่ที่อ่าวใบลาน บ้านบางเบ้าและบ้านคลองสน ฯลฯ บางครั้งก็มักจะบอกใครต่อใครว่าเป็นหมูป่าที่ล่ามาจากด่านชุมพล ในเขตอำเภอบ่อไร่ ซึ่งอยู่ไกลออกไปบนผืนแผ่นดินใหญ่
             การขาดแคลนแรงงานในภาคเกษตรกรรม นับเป็นอีกปัญหาหนึ่งของสังคมเกาะช้าง โดยเฉพาะคนงานรับจ้างกรีดยางพารา ทำสวนผลไม้ สวนมะพร้าวและรับจ้างทั่วๆไป ทำให้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา จึงมีการนำเอาแรงงานข้ามชาติที่เป็นชาวมอญ ชาวเขมรและชาวกะเหรี่ยง เข้ามาพำนักบนเกาะช้างมากขึ้น โดยชาวมอญและชาวกะเหรี่ยง มักจะเลือกอาชีพรับจ้างกรีดยางพารา พวกเขาอยู่อาศัยกันเป็นครอบครัว ในกระท่อมเพิงพักที่ผู้เป็นเจ้าของสวนยางพาราจัดให้ โดยเฉพาะสวนยางพาราที่ตั้งอยู่เชิงเขาของหมู่บ้านสลักเพชร คือพื้นที่พำนักที่มีชาวมอญและชาวกะเหรี่ยงอยู่อาศัยมากที่สุด
             ในขณะที่ชาวเขมรมักจะเลือกอาชีพลูกเรือประมงและงานรับจ้างทั่วๆไป ไมว่าจะเป็นงานรับจ้างทำสวนผลไม้ สวนมะพร้าวและบางส่วนก็เข้าไปขายแรงงานอยู่ในภาคการท่องเที่ยวของเกาะช้าง ทั้งกรรมกรก่อสร้างและพนักงานตามสถานที่พักต่างๆฯลฯ ในจำนวนนี้มีอยู่ส่วนหนึ่งที่แหล่งพำนักของพวกเขา คือกระท่อมในสวนผลไม้ที่อยู่ลึกเข้าไปในเขตพื้นที่เชิงเขา ดังนั้นเมื่อใครคนใดแบกปืนแก๊ปขึ้นสู่ภูเขาเพื่อส่งอยิงสัตว์ป่าพฤติกรรมของพวกเขาจึงมักจะปลอดพ้นจากความรับรู้ของผู้คนทั่วไป
             จากวิถีชีวิตที่ยากจนขัดสน ด้อยโอกาสและด้อยการศึกษา “สัตว์ป่า”ในความรับรู้ของพรานนักล่าที่เป็นแรงงานต่างถิ่นและแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ แม้ส่วนหนึ่งจะยึดเป็นอาชีพเสริมหารายได้จุนเจือครอบครัว แต่ส่วนใหญ่ต่างก็คิดหวังต้องการล่า เพียงเพื่อเอาเนื้อมาปรุงเป็นอาหาร ไม่ว่าจะเป็นหมูป่า เก้ง ชะมด ลิง นกเงือก กระรอก ฯลฯ หรือแม้แต่การใช้หนังสติคไล่ยิงนกเล็กๆที่พบเจอ
             ในความรับรู้ของพวกเขา จึงไม่มีเรื่องราวที่บอกเล่าถึงคุณค่าของชีวิตสัตว์ป่าบนเกาะช้าง ไม่มีเรื่องราวที่เล่าขานว่า ควรจะอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติบนเกาะช้างอย่างยั่งยืนได้อย่างไร ?
             5...
             การบอกกล่าวให้พรานนักล่า ทั้งที่เป็นชาวเกาะช้าง แรงงานต่างถิ่นและแรงงานข้ามชาติ ได้รับรู้ถึงคุณค่าการดำรงอยู่ของนกเงือกเกาะช้างอย่างทั่วถึง จึงน่าจะเป็นมาตรการสำคัญที่หน่วยงานของรัฐและผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง เพราะการสร้างองค์ความรู้ให้ทุกคนได้เข้าใจและตระหนักต่อความสำคัญของวิถีชีวิตนกเงือก ซึ่งเป็นความงดงามของโลกธรรมชาติที่น่าพิศวงและเป็นห่วงโซ่ความสมบูรณ์ของระบบนิเวศป่าไม้
             แท้จริงคือการคืนชีวิตธรรมชาติให้นกเงือกเกาะช้าง ที่ไม่ควรจะมีเหตุเลวร้ายใดๆจากมนุษย์เป็นผู้หยิบยื่นให้อีกต่อไป เพราะสิ่งนี้จะเป็นคุณูปการล้ำค่าต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของเกาะช้าง ซึ่งจะสะท้อนให้เราประจักษ์ได้อย่างชัดเจนว่า ตราบใดที่การปกป้องรักษา “หมู่เกาะป่าดิบชื้น” ที่เป็นเอกลักษณ์ของเกาะช้าง ให้โลกธรรมชาติได้ดำรงอยู่อย่างธรรมชาติที่ถูกเปลี่ยนโฉมน้อยที่สุด
             ตราบนั้นมรดกธรรมชาติที่ทรงคุณค่าก็จะหยิบยื่นอนาคตที่ยาวไกลและยั่งยืนให้กับการท่องเที่ยวของเกาะช้างอย่างแน่นอน.

   
นกแก๊กหรือนกแกง
(ภาพโดย : พิไล พูลสวัสดิ์)
  นกกก นกกาฮังหรือนกกะวะ
(ภาพโดย : Atsuo Tsuji)
  นกเงือกกรามช้างหรือนกกู๋กี๋
(ภาพโดย : รัฐพล ใกล้ชิด)


เชิงอรรถ : ณรงค์ จิระวัฒน์กวี และ พงษ์สรร สุวรรณ, นกเงือกไทย
(โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว : องค์การค้าคุรุสภา, 2545),หน้า 14,20,22